สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้จัดหาบริษัทเพื่อเขียนแผนก่อสร้างสนามที่ใช้สำหรับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลโดยเฉพาะในอนาคต
ซึ่งที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ ได้มีการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดสำหรับการก่อสร้างสนามที่ใช้แข่งขันกีฬาฟุตบอล โดยมีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการระดมทุนจากภาคสาธารณะเหมือนอย่างสนาม ซูอิตะ สเตเดียม ของสโมสร กัมบะ โอซาก้า ทีมในเจลีก ญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้ไปดูงานถึงสนามดังกล่าวด้วยตัวเอง
สำหรับแผนดังกล่าว นอกจากจะเป็นเรื่องของการก่อสร้างสนามที่ใช้สำหรับจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลแล้ว ยังมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้เป็นสถานที่ๆ สามารถใช้ทำกิจกรรมอื่นๆ ตลอดทั้งสัปดาห์ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแก่คนทั่วไป แม้แต่ในวันที่ไม่มีแข่ง
โดยทาง พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯกล่าวว่า
“สมาคมฯ จะจัดหาบริษัท มาเขียนแผนการก่อสร้างฟุตบอล สเตเดียม ของสมาคม เพื่อที่จะกำหนดทิศทาง รูปแบบของสนาม ตลอดจนแหล่งที่มาของการเงิน และที่ดิน
ถ้าเราได้รูปแบบของสนามที่เราสามารถกำหนดราคาก่อสร้างได้ เราก็จะหาบริษัททางการเงินว่าเราจะสามารถใช้เงินอย่างไร อาจจะเป็นการระดมทุนจากแฟนบอลไทยทั้งประเทศ หรือจดทะเบียนบริษัทขึ้นมาเป็นฟุตบอล สเตเดียม และให้แฟนบอลเข้ามาถือหุ้น หรือใครก็แล้วแต่ที่สนใจ
เมื่อเราได้รูปแบบโครงสร้าง ประมาณการค่าใช้จ่าย ที่ชัดเจน เราก็จะนำแผนไปเสนอกับรัฐบาล เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการจัดหาที่ดินให้กับเรา ซึ่งก่อนที่เราจะไปขอที่ดิน เราต้องมีแผนการก่อสร้าง ว่าจะสร้างอย่างไร เราต้องมีแบบแผน และศึกษาอย่างชัดเจนว่าเราจะหาเงินทุนจากไหน ใช้ระยะเวลานานเท่าไรในการก่อสร้าง
ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าผมจะต้องสร้างให้ทันก่อนที่ผมจะหมดวาระ ผมแค่ต้องการวางรากฐานไว้ ว่าในอนาคต ถ้าท่านใดก้าวมาเป็นนายกสมาคมฯ ต่อจากผม จะได้เห็นและเข้าใจถึงความสำคัญของการมีสนามฟุตบอลที่ทันสมัย”
ขณะที่ทาง พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ และโฆษกสมาคมฯกล่าวว่า
“การสร้างสนามตอนนี้ เราก็ต้องศึกษาความเป็นไปได้ทั้งหมด เรารู้ว่ากีฬาฟุตบอลนั้นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยเงื่อนไขที่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกเหนือจากเรื่องการดัดแปลงต่อเติมแล้ว การจัดกิจกรรมหลายอย่างก็มีข้อจำกัดเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการคมนาคม หรือเทคโนโลยีต่างๆ เพราะการพัฒนาต่างๆ ย่อมเป็นไปตามกาลเวลา
ถึงแม้เมื่อสิบปีก่อน เราสามารถจัดการแข่งขันฟุตบอลรายการใหญ่ได้ แต่ ณ วันนี้ มันมีเงื่อนไขต่างๆ เข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้สนามที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่สามารถรองรับกับมาตรฐานที่สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียหรือสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติกำหนดไว้ได้
เพราะในปัจจุบันเอง การขอเป็นเจ้าภาพในระดับเอเชียน คัพ ก็มีเกณฑ์ที่สูงขึ้นมาก ทำให้เสียโอกาสในการยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในรายการนานาชาติ เราจึงต้องมีสนามที่สามารถปรับปรุงเองได้ หรือสามารถสร้างเพื่อวางแผนสำหรับอนาคต
ตอนนี้ เราต้องพยายามวางโครงร่างให้เกิดขึ้น ทั้งเรื่องของฟังก์ชันต่างๆ ในการจัดกิจกรรม หรือมีเทคโนโลยีที่พร้อมรับรองรูปแบบต่างๆ ในอนาคต เพื่อให้เราพร้อมที่สุด เพราะหากเราได้ที่ดิน มีทุน เราก็จะได้ก้าวไปขั้นตอนต่อไป
ส่วนสถานที่ก่อสร้าง ทุกที่เป็นไปได้หมด เพราะนอกจากต้องพิจารณาเรื่องพื้นที่แล้ว ยังต้องมองในเรื่องของการคมนาคม เพื่อทำให้แฟนบอลเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย ส่วนคุณสมบัติของสนาม นอกจากจะมีความสวยงามแล้ว สิ่งสำคัญก็คือต้องได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์ของฟีฟ่าและเอเอฟซี รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ ได้ศึกษาสนามมามากมาย อย่างเช่นการเดินทางไปที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อดูสนาม ซูอิตะ สเตเดียม ของกัมบะ โอซาก้า ที่เกิดจากความร่วมมือของสามภาคส่วน คือ ภาคเอกชน, ภาคบริจาค และ ภาครัฐ ส่วนที่ดินเป็นของเทศบาลเมือง ซึ่งพวกเขาก็สามารถดำเนินการให้มันเกิดขึ้นมาได้ นอกจากนี้ยังมีหลายสถานที่ๆ เราไปศึกษามาอีกเช่นกัน
สถาปัตยกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้น เกิดจากความฝัน และจินตนาการ สนามฟุตบอลแห่งชาติเองก็เหมือนกับตัวแทนความหวังและความฝันของทุกคนในชาติ วันนี้เราได้เริ่มต้นในขั้นตอนแรก ก่อนจะเริ่มขยับไปในแต่ละขั้นอย่างมีรูปแบบและความเป็นไปได้
ซึ่งหลังจากมีการประกาศสรรหาผู้ออกแบบโครงร่างก็มีนิติบุคคลยื่นความสนใจมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 รายด้วยกัน”
Cr. ภาพ : คมชัดลึก
Cr. ข้อมูล : FA Thailand